Yield curve คืออะไร ? เส้นบ่งชี้สภาวะเศรษฐกิจสำคัญแค่ไหนกับนักลงทุน




ทิศทางในการลงทุนตราสารหนี้ มีการใช้เครื่องมือทางเทคนิคมากมายเพื่อให้ได้ผลตอบแทนดีและไม่เกิดความเสี่ยง จึงเกิดการวิเคราะห์มากมายที่จะช่วยให้นักลงทุนสามารถคาดการณ์การเคลื่อนไหวของตลาดตราสารหนี้ว่าจะไปในทิศทางใด มีเส้นอัตราผลตอบแทนนึงที่จะสามารถบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจโดยรวมได้เป็นอย่างดี รวมทั้งมีความสัมพันธ์กับตลาดหุ้นอีกด้วย ถ้าอยากรู้ว่าเส้นนั้นคืออะไร ใช้งานอย่างไร จะช่วยนักลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน วันนี้ XSpring จะพาไปหาคำตอบ

  • Yield curve คืออะไร?

Yield curve คือ เส้นผลตอบแทนหรือเส้นที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทน กับ อายุคงเหลือของตราสารหนี้ (Bond) โดยตราสารหนี้ปกติที่นิยมใช้ดูกันคือ พันธบัตรรัฐบาล จะช่วยบอกทิศทางเศรษฐกิจและคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตได้ เป็นเครื่องมือที่หลายสถาบันทางการเงิน และเหล่านักลงทุนเลือกใช้ ในการตัดสินใจลงทุนและกำหนดนโยบายการเงิน เส้น Yield Curve จะช่วยสะท้อนถึงความคาดหวังของนักลงทุนเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อ นโยบายการเงินในอนาคต รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ

  • รูปแบบของเส้น Yield Curve

1.Normal curve เส้นอัตราผลตอบแทนปกติ (Normal curve) จะแสดงให้เห็นถึงผลตอบแทนสําหรับพันธบัตรที่ระยะสั้น ด้วยเส้นโค้งลาดขึ้นสิ่งนี้บ่งชี้ว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามอายุของพันธบัตร ซึ่งนักลงทุนอาจคิดว่า ในการลงทุนพันธบัตรระยะสั้น มีความเสี่ยงน้อยกว่า จึงได้รับผลตอบแทนน้อยกว่า ส่วนการลงทุนพันธบัตรระยะยาว มีความเสี่ยงมากกว่า จึงต้องได้รับผลตอบแทนที่มากกว่า เช่น เงินกู้รัฐบาลนาน 10 ปีขึ้นไป ซึ่งนักลงทุนต้องเสียโอกาสการใช้เงินตรงนั้นไป และโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ที่สูง จึงต้องได้รับการชดเชยด้วยผลตอบแทนที่สูงขึ้น ซึ่งรูปแบบ Normal yield curve เป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นกับ สภาวะตลาดที่เป็นปกติทั่วไป แสดงถึงการเติบโตของเศรษฐกิจที่ปกติ

2. Inverted curve เส้นอัตราผลตอบแทนกลับด้าน (Inverted yield curve) คือ เส้นอัตราผลตอบแทนที่มีความชันเป็นลบ ซึ่งกลับด้านจากสถานการณ์ปกติ เป็นอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะสั้น มากกว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาว เส้น Inverted curve เป็นสัญญาณที่ผิดปกติของภาวะเศรษฐกิจ อาจมีสัญญาณจากเศรษฐกิจที่เริ่มนิ่ง อาจมีโอกาสเกิด Recession ในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากเมื่อเศรษฐกิจโตเกินกว่าปกติ หรือโตกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ธนาคารต้องใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด โดยปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สูงขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพ ส่งผลให้ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับสูงขึ้น เพราะนักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจ อาจเป็นขาขึ้นรอบสุดท้าย จึงมีการงย้ายการลงทุนไปในสินทรัพย์ที่ปลอดภัย เช่น พันธบัตรระยะยาว เพื่อตอบแทนที่ดีกว่า จึงกดดันให้ผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวลดลง จนทำให้เกิด Inverted yield curve

3. Flat Yield Curve เส้นโค้งผลตอบแทนราบ (Flat Yield Curve) คือ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะสั้น เท่ากับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาว แทบจะไม่มีความแตกต่างของอัตราผลตอบแทนระหว่างพันธบัตรที่มีอายุสั้นและพันธบัตรที่มีอายุยาว โดยจะเกิดในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างเต็มที่และเตรียมที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย เส้น Yield curve จาก Normal yield curve ที่กำลังเปลี่ยนเป็น Inverted yield curve จะต้องเกิด Flat yield curve เกิดขึ้นก่อน

  • นักลงทุนสามารถใช้เส้น Yield Curve ได้ตอนไหน?

Yield Curve เป็นดั่งเข็มทิศชี้บอกทิศทางเศรษฐกิจ นักลงทุนใช้ข้อมูลนี้ในการตัดสินใจลงทุน เช่น เมื่อ Yield Curve แสดงสัญญาณของภาวะเศรษฐกิจถดถอย นักลงทุนอาจปรับพอร์ตไปสู่สินทรัพย์ปลอดภัย หรือหลีกเลี่ยงพันธบัตรระยะยาวที่อาจได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในอนาคต ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อ Yield Curve มีลักษณะชันขึ้น ซึ่งบ่งบอกถึงอัตราเงินเฟ้อในอนาคต และประกอบกับในภาวะที่เศรษฐกิจเติบโตดีและอัตราดอกเบี้ยคงที่ เส้น Yield curve จะลาดชันขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว ที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรระยะสั้น ซึ่งปกตินักลงทุนมักจะนิยมลงทุนในพันธบัตรระยะยาวที่ให้อัตราผลตอบแทนที่สูงเพื่อชดเชยอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม Yield Curve เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการวิเคราะห์สภาวะเศรษฐกิจและช่วยในการตัดสินใจลงทุน ดังนั้นการที่นักลงทุน ได้มีการทำความเข้าใจในรูปแบบต่างๆ ของเส้น Yield Curve จะช่วยให้นักลงทุนสามารถประเมินสถานการณ์และวางแผนการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น