
กองทุนส่วนบุคคล
คือ กองทุนที่บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลใดๆ ที่มีวัตถุประสงค์ต้องการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ
ทำการมอบหมายให้บริษัทจัดการหรือสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตจัดการกองทุนส่วนบุคคลเป็นผู้บริหารเงินลงทุน
โดยมีการทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างบริษัทจัดการและผู้ลงทุนถึงนโยบายการลงทุน เป้าหมายทางการเงิน ความต้องการผลตอบแทนและระยะเวลาการลงทุน
โดยจัดทำเป็นหนังสือสัญญาข้อตกลงระหว่างบริษัทจัดการกับผู้ลงทุน
เงินลงทุนในกองทุนส่วนบุคคลอาจมาจากผู้ลงทุนประเภท “บุคคลธรรมดา” หรือ “นิติบุคคล” ก็ได้ แต่ต้องเป็นผู้ลงทุนที่มีสัญชาติไทยทั้งหมด หรือเป็นผู้ลงทุนชาวต่างชาติทั้งหมดเท่านั้น
(กองทุนรวมจึงมีสัญชาติเป็นไปตามสัญชาติของผู้ลงทุน ดังนั้น จะเป็นกองเงินลงทุนที่มาจากผู้ลงทุนสัญชาติไทยร่วมกับผู้ลงทุนต่างชาติไม่ได้) ในกรณีของคณะบุคคลจะต้องประกอบด้วย
บุคคลอย่างน้อย 2 คนขึ้นไป แต่ต้องไม่เกิน 9 คน
เนื่องจากกองทุนส่วนบุคคล เป็นการบริหารจัดการกองทุนภายใต้ข้อตกลงระหว่างผู้ลงทุนและบริษัทจัดการ ทำให้กองทุนส่วนบุคคลสามารถมี นโยบายการลงทุนที่หลากหลาย และผู้ลงทุนสามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายการลงทุนได้ตามความต้องการ อย่างไรก็ดี เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ลงทุนภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสม ก่อนการว่าจ้างบริหารจัดการกองทุนส่วนบุคคล บริษัทจัดการจะขอข้อมูลของลูกค้าเกี่ยวกับฐานะทางการเงิน ภาระทางการเงิน ระยะเวลาในการลงทุน ประสบการณ์ในการลงทุน ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้และผลตอบแทนที่คาดหวัง เพื่อทำความรู้จักสถานะของลูกค้า (Know your customer) และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อกำหนดนโยบายการลงทุนให้เหมาะสมกับลูกค้า (Suitability) ก่อนการกำหนดนโยบายการลงทุน ทั้งนี้ ตัวอย่างนโยบายการลงทุนของกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน ได้แก่
นโยบายการลงทุน | สัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้และตราสารอื่นที่มีลักษณะคล้ายตราสารหนี้ | สัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนและตราสารอื่นที่มีลักษณะคล้ายตราสารทุน | ผลตอบแทนคาดหวัง |
---|---|---|---|
คาดหวังผลตอบแทนน้อย ความเสี่ยงต่ำ (Conservative) | 80-100% | 0-20% | สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก |
คาดหวังผลตอบแทนปานกลางความเสี่ยงปานกลาง (Moderate) | 40-60% | 40-60% | สูงกว่านโยบายการลงทุนแบบ Conservative |
คาดหวังผลตอบแทนสูงความเสี่ยงสูง (Aggressive) | 0-20% | 80-100% | สูงกว่านโยบายการลงทุนแบบ Aggressive |
เสียภาษีในอัตราปกติตามประเภทของผู้ลงทุนและลักษณะของตราสารที่ลงทุน
ทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคลไม่ได้จัดสรรออกเป็นหน่วยลงทุนอย่างกองทุนรวม ผู้ลงทุนเพียงแต่นำเงินลงทุนที่มีอยู่ไปให้บริษัทจัดการนำไปวางแผนและจัดการลงทุนตามความเหมาะสมกับตนเอง ดังนั้น กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินหรือเงินกองทุนจึงเป็นของผู้ลงทุน ชื่อเจ้าของทรัพย์สินก็เป็นชื่อของผู้ลงทุน แต่จะมีการระบุชื่อของบริษัทจัดการควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าทรัพย์สินของผู้ลงทุนนั้นถูกบริหารโดยบริษัทจัดการ
ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนในกองทุนส่วนบุคคลอาจต้องเสียภาษีด้วยตามสถานะของเจ้าของเงิน (ที่อาจเป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล) เช่น หากคุณเป็นบุคคลธรรมดาและกองทุนส่วนบุคคลนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ที่ได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย ดอกเบี้ยที่ได้รับก็ต้องถูกหักภาษีตามปกติ (แต่ถ้าเป็นกองทุนรวมเมื่อนำเงินไปลงทุนและได้ผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลหรือดอกเบี้ย ก็จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี)
ผู้ลงทุนในกองทุนส่วนบุคคลควรจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนอยู่ในระดับดี เพื่อจะได้มีความเข้าใจในนโยบายการลงทุนที่ผู้จัดการกองทุนนำเสนอ และสามารถร่วมกำหนดนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเองได้
- เพิ่มโอกาสในการลงทุนที่มากกว่าการลงทุนในหลักทรัพย์เองโดยตรง และเงินลงทุนสามารถกระจายความเสี่ยงได้มากกว่าการลงทุนโดยตรง โดยอาศัยทีมผู้จัดการกองทุนมืออาชีพในการคัดเลือกและจัดสรรเงินลงทุนให้แก่ผู้ลงทุน
- มีความเป็นส่วนตัว และมีความยืดหยุ่นกว่าการลงทุนในกองทุนรวมทั่วไป โดยผู้ลงทุนเป็นผู้กำหนดนโยบายร่วมกับผู้จัดการกองทุน และสามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายการลงทุนได้ตามความต้องการของตน อีกทั้งยังสามารถยกเลิกสัญญาได้ตลอดเวลา (ต้องแจ้งความประสงค์การเลิกสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น)
- สามารถเข้าถึงข้อมูลรายละเอียดการลงทุนได้อย่างใกล้ชิด เสมือนลงทุนด้วยตนเอง
- บริษัทจัดการจะหาโอกาสการลงทุนในตราสารใหม่ๆที่ให้ผลตอบแทนสูงอยู่เสมอ อาทิ ตราสารที่เสนอขายในตลาดแรก เป็นต้น
- มีอำนาจต่อรองที่มากขึ้นจากการบริหารเงินกองทุนรวมกัน
- ลดภาระการติดต่อสถาบันการเงิน การติดตามข่าวสาร และ การบริหารเงินด้วยตนเอง
ฝ่ายการตลาดกองทุนส่วนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็กซ์สปริง จำกัด
โทร. 02-030-3730