สำหรับนักลงทุนหลายท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนที่มีเงินหนาสักหน่อย อาจจะเริ่มได้ยินคำพูดประมาณ “Private Equity” หรือ “Private Credit” จากผู้ดูแลการลงทุนของท่าน และอาจจะไม่ค่อยคุ้นหูกันเท่าไหร่ว่าสิ่งนั้นคืออะไร หรือถ้าภาษาไทยจะเรียกรวมๆ ว่า “ทรัพย์สินนอกตลาด” ซึ่งก็สร้างความงุนงงได้เช่นกัน (บางท่านอาจจะเข้าใจว่าตลาดสดก็เป็นไปได้) ในบทความชิ้นนี้จึงอยากเล่าความรู้พื้นฐานโดยคร่าวเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า “ทรัพย์สินนอกตลาด” หรือ “Private Asset” เพื่อเป็นความรู้แบบฉบับกระเป๋า ให้เข้าใจง่ายที่สุด กล่าวอย่างง่ายที่สุด Private Asset หรือทรัพย์สินนอกตลาด เป็นประเภททรัพย์สินที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Public Asset) ซึ่งทำให้นักลงทุนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย และมีวิธีการประเมินราคาที่ไม่เหมือนกับทรัพย์สินทั่วไปที่มีราคาประเมินอย่างชัดเจน ในเชิงหลักการ การเกิดขึ้นของตลาด (Market) สิ่งที่ตามมาคือการรู้ราคา (Price Transparency) และการหาราคาที่ดีที่สุด (Price Discovery) ตัวอย่างง่ายๆ คือ เดินไปตลาดสด แล้วทุกร้านค้ามีการวางสินค้าเอาไว้พร้อมแปะราคาขายอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับตลาดหลักทรัพย์ที่มีการเปิดเผยราคากันอย่างชัดเจน ผู้ซื้อทุกคนไม่ว่าจะสถาบันหรือรายย่อย ต่างรู้ราคากันที่ชัดเจน มีหลักเกณฑ์ที่กำหนดหรือคำนวณเพื่อให้เปรียบเทียบกันได้ สินทรัพย์นอกตลาด จึงเป็นอะไรที่อยู่แทบจะตรงกันข้ามกับสินทรัพย์ที่อยู่ในตลาดอย่างชัดเจน กล่าวคือ ในเชิงของราคาก็ไม่ได้มีการประเมินหรือเปรียบเทียบกันตรงๆ ได้ขนาดนั้น แถมหาซื้อก็ไม่ใช่ว่าจะง่ายๆ ตัวอย่างเช่นท่านผู้อ่านอาจมีแหวนทองคำที่ตกทอดมรดกจากรุ่นสู่รุ่น แล้วสมมติมีคนมาติดต่อขอซื้อ ประเมินอย่างมากก็อาจจะได้แค่ราคาทองในตลาด แต่ความรู้สึกที่มีและเรื่องเล่าของแหวนดังกล่าวอาจจะมากกว่าราคาทองในนั้น หรือกระเป๋าสักใบที่อาจเลิกทำไปแล้ว แต่ผู้อ่านยังเก็บไว้ และตลาดหาเล่นกันมากๆ อันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่เทียบกันง่ายๆ ตัวอย่างที่ชัดเจนของสินทรัพย์นอกตลาด เช่น การลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือการลงทุนซื้อสินทรัพย์เช่นทางด่วน สายไฟฟ้า ถนน หรือบริการบางอย่าง เช่น การจดทะเบียนป้ายทะเบียนรถยนต์ เป็นต้น ซึ่งไม่ได้มีการจดทะเบียนในตลาดทรัพย์และซื้อขายกันได้ทั่วไป ลักษณะของทรัพย์สินเช่นนี้ ทำให้สิ่งที่ตามมาด้วยคือ ความพิเศษ (Exclusivity) สำหรับสินทรัพย์ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าถึงได้ อาจจะต้องเป็นคนที่รู้จัก คนคุ้นเคย และจะต้องมีฐานเงินขนาดที่ใหญ่เพียงพอ เพราะสินทรัพย์เหล่านี้มักต้องใช้เงินลงทุนสูงในการลงทุน สิ่งที่ตามมาคือการเปลี่ยนมือที่ยากขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วย ยิ่งอะไรที่ต้องใช้เงินสูง (เช่น โครงข่ายสายไฟฟ้า) ที่ต้องลงทุนหลายๆ ร้อยล้านบาท ก็ทำให้ลงทุนหรือเข้าถึงได้ยากขึ้น นอกจากความยากในการเข้าถึงแล้ว การประเมินราคาเองก็เป็นไปได้ยากขึ้น ในตลาดสดเราจะเห็นได้เลยว่า เขียงหมูหรือเนื้อแรกในตลาดกับเขียงหมูหรือเนื้ออีกร้านที่ห่างออกไปสองล็อคต่างกันอย่างไร คุณภาพของเนื้อสัตว์ที่เอามาขายเป็นอย่างไร ราคาต่างกันแค่ไหน แต่ในตลาดสินทรัพย์นอกตลาด การประเมินราคาเป็นไปได้ยาก เช่น การจะเอาราคาขายโครงข่ายสายไฟฟ้าไปเทียบตรงๆ กับการขายโครงข่ายท่อน้ำประปาก็ทำได้ยาก และพอจะทำก็ไม่มีราคากลางให้ประเมิน ต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญมาประเมินและดูบัญชีกันอย่างละเอียด เพื่อคำนวนออกมาให้ได้ราคาที่เหมาะสมอีก แถมถ้าคนขายไม่เห็นด้วยก็ต้องเจรจาต่อรองกันอีก คราวนี้ผู้อ่านอาจมีคำถามในใจว่า แล้วอย่างตราสารหนี้ เช่น หุ้นกู้ ที่ไม่มีตลาดกลาง แต่ทำไมถึงจัดว่าเป็น Public Asset หรือสินทรัพย์ในตลาด? คำตอบก็คือสินทรัพย์เหล่านี้แม้จะไม่มีตลาดกลาง และเป็นการแลกเปลี่ยนแบบตกลงกันเอง (เรียกกันว่า OTC: Over the counter) แต่ตราสารหนี้นั้นยังมีราคากลางที่ประเมินได้ เช่น อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล การออกตราสารหนี้ของบริษัทจดทะเบียนอื่นๆ ระยะเวลาของตราสาร ที่สามารถเอามาเปรียบเทียบกันได้อยู่ กล่าวอีกอย่างคือมีของ “อ้างอิง” อยู่ (และในเมืองไทยเอง ตามข้อบังคับของ ThaiBMA ต้องมีการรายงานการซื้อขายภายใน 30 นาที กลับเข้าระบบด้วย สำหรับบริษัทที่ทำหน้าที่ซื้อขายตราสารหนี้) นอกจากนั้นบริษัทที่นำเสนอขายที่เข้าเกณฑ์ จำเป็นต้องเปิดเผยหรือรายงานข้อมูลตามที่กำหนดไว้ด้วย ดังนั้นตราสารหนี้โดยทั่วไป จึงไม่นับตรงๆ ว่าเป็นสินทรัพย์นอกตลาด ข้อดีโดยตรงนอกจากความเท่หรือไม่เหมือนใคร สินทรัพย์นอกตลาดเองก็จะไม่อ่อนไหวหรือไม่ผันแปรไปตามราคาของสินทรัพย์นอกตลาดด้วย (ภาษาทางการคือ Low Correlation) แต่ยังให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับสินทรัพย์นอกตลาด จากสถิติที่ XSpring AM ได้ทำการศึกษานับตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา พบว่าหากธนาคารกลางสหรัฐฯ ลดดอกเบี้ยเมื่อใด และสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ใช่หดตัว (Recession) ผลตอบแทนของสินทรัพย์เหล่านี้มักจะเป็นบวก ซึ่งในทางกลับกันถ้าเป็นช่วง Recession ผลตอบแทนจะเป็นลบ แม้อ่านดูแล้วเหมือนจะดี แต่สินทรัพย์นอกตลาดเหล่านี้ก็มักจะตามมาด้วยความเสี่ยงที่สูงมากด้วยเช่นกัน เช่น บริษัทได้สัญญาสัมปทานนอกตลาด แต่บริษัทนั้นอาจถูกยกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้ หรืออยากจะขายแต่หาคนรับซื้อได้ยากมาก (illiquid) หรือไม่หากเป็นกองทุนรวมก็อาจถูกล็อคไว้ ไม่ให้ขายหรือมีค่าปรับที่สูงหากขายก่อนเวลาที่กำหนดไว้ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ สินทรัพย์นอกตลาดจึงมักสงวนไว้ให้กับคนที่มีทั้งฐานะทางการเงินที่ถึงพร้อม ยอมรับความเสี่ยงได้สูงถึงสูงมาก และต้องมีความรู้ความเข้าใจถึงสินทรัพย์ที่ตนเองจะลงทุน ถ้าเป็นกองทุนรวมที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (UI: Ultra Accredited Investor) ซึ่งลงทุนใน Private Asset ประเภท Private Equity จะเป็นผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือซับซ้อน (Risky/Complex Product) ซึ่งเกณฑ์ของ ก.ล.ต. จะสงวนกองทุนรวมประเภทนี้ไว้สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน (Institutional Investor : II) หรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (Ultra High Net Worth : UHNW) โดยตามเกณฑ์ปัจจุบัน HHNW จะต้องมีเงินลงทุนหรือสินทรัพย์ถึงตามที่กำหนด (เช่น สินทรัพย์ลงทุนตั้งแต่ 15 ล้านบาทขึ้นไป) ประกอบกับมีประสบการณ์หรือความรู้ที่เกี่ยวเนื่อง (เช่น ต้องมี CFA, เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเกี่ยวกับหลักทรัพย์หรือการลงทุนในตลาดทุน หรือเคยทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์เสี่ยงไตรมาสละครั้ง ย้อนหลังไป 1 ปี ก่อนจะขอสถานะ) โดยทั่วไป ทรัพย์สินนอกตลาดสามารถแบ่งออกได้เป็นสี่หมวดคร่าวๆ คือ Private Credit หรือสินเชื่อนอกตลาด (เช่น บริษัทการเงินที่ปล่อยกู้ให้บริษัทขนาดใหญ่), Private Equity หรือหุ้นบริษัทนอกตลาด, Private Infrastructure หรือโครงสร้างพื้นฐานนอกตลาด เช่น ทางด่วน สายไฟฟ้า และสุดท้ายที่อยู่ในกลุ่มนี้คือ Hedge Fund หรือกองทุนรวมเก็งกำไร ที่มักใช้กลยุทธ์ซับซ้อน และไม่เปิดรับนักลงทุนทั่วไป เป็นต้น แต่หลังๆ มาทรัพย์สินเหล่านี้ก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปสู่ความเป็นกึ่งสาธารณะ (semi-public) มากขึ้น เช่น เอามาขายเป็นกองทุนรวม หรือมีตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนในหน่วยย่อยที่เล็กลง ทำให้สามารถซื้อหรือขายได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้สินทรัพย์เหล่านี้ในเมืองไทยเอง มักถูกเอามาขายเป็นกองทุนรวมแบบพิเศษและเฉพาะเจาะจงสำหรับนักลงทุนบางกลุ่ม ซึ่งทำให้การเข้าถึงนั้นอาจจะเข้าถึงได้ยากสำหรับคนทั่วไป และสำหรับคนที่มีเงินพอก็อาจจะไม่สามารถลงทุนได้หากไม่มีความรู้ที่เข้าถึงเกณฑ์ที่เพียงพอ สินทรัพย์นอกตลาดแม้จะมีความน่าสนใจ โดยเฉพาะในมิติของผลตอบแทน แต่ก็ไม่ใช่ของที่อาจจะเหมาะกับทุกคน ดังนั้นแล้วก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนอาจจะต้องพิจารณากันให้ครบถ้วนและรอบด้านทั้งในแง่ของตัวผู้ลงทุนเอง และสินทรัพย์ที่ไปลงทุน เพื่อที่เราจะได้ลงทุนในสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเรา
โดย: ภัทรนันท์ ธนียวัน ลิ้มอุดมพร นักกลยุทธ์การลงทุน บลจ.เอ็กซ์สปริง
|