การสร้างความมั่งคั่งผ่านการออมเพื่อการเกษียณสุข (Happy Retirement) ในพลวัตการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างการลงทุนในปัจจุบันและในอนาคต




     ปัจจุบัน การวางแผนทางการเงินเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้เพียงพอสำหรับการเกษียณสุขนั้น เป็นเรื่องที่มีการพูดคุยกันเป็นวงกว้าง และคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องหยิบยกขึ้นมาเพื่อพูดคุยกันในวันนี้ว่า การเตรียมความพร้อมทางการเงินเพื่อรองรับการเกษียณสุขนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ และการที่ลงมือทำตั้งแต่ยังมีอายุน้อยจะสามารถทำให้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้เร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดก็มักจะขึ้นอยู่กับความตั้งใจ ความมีวินัยในการวางแผนทางการเงิน และการจัดกรอบการลงทุน

     หลายท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะมีคำถามว่า แล้วการวางแผนทางการเงินที่กล่าวมาข้างต้นนั้นอยู่ในรูปแบบใดได้บ้าง ซึ่งก่อนที่จะเล่าให้ฟังคงต้องกลับไปร้อยเรียงให้ทุกท่านได้เห็นภาพว่าจริง ๆ แล้วโครงสร้างการบริหารจัดการ และการวางแผนทางการเงินผ่านการออมเพื่อการเกษียณสุขนั้น ตามที่ธนาคารโลกได้กำหนดไว้ประกอบด้วย 3 แกนหลัก (3 Pillars) ได้แก่

  • Pillar 1: ระบบการออมเพื่อการเกษียณที่ทางรัฐได้เตรียมไว้ให้ (Compulsory Saving) ได้แก่ บำนาญข้าราชการรูปแบบ Defined Benefits กองทุนประกันสังคม 
  • Pillar 2: การออมภาคบังคับ (Mandatory Saving) ได้แก่ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการรูปแบบ Defined Contribution กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีคุณสมบัติตามที่ กบข. กำหนด (Qualified PVD) 
  • Pillar 3: การออมภาคสมัครใจ (Voluntary Saving) ได้แก่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)  

     ซึ่งในอนาคตข้างหน้าประเทศไทยจะมีการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ หรือ กบช. ภายใต้ พ.ร.บ. กบช. ซึ่งเป็นการออมภาคบังคับ (Pillar 2) ที่ทางคณะรัฐมนตรีชุดก่อนหน้าได้มีการอนุมัติร่างหลักการ และเสนอทางสำนักงานกฤษฏีกา ตรวจพิจารณาก่อนกลับมานำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันต่อไป





     เล่ามาถึงที่มาที่ไปของโครงสร้างการออม 3 เสาหลักข้างต้น เพื่อโยงมาให้เห็นถึงความสำคัญของการวางแผนทางการเงินเพื่อการเกษียณสุข ซึ่งตามที่หลายท่านทราบว่า ปัจจุบันนั้น มี 3 เรื่องหลักที่ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประเทศในอนาคต ได้แก่ 1) สังคมสูงวัย (Aging Society) ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าประชากรสูงวัยของประเทศไทยนั้นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ประชากรวัยทำงานจะมีสัดส่วนที่ลดลง ซึ่งเป็นปัญหาที่หลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนาประสบกันอยู่ 2) อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง (Higher Inflation Rate) ซึ่งมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับที่สูงอย่างนี้ไปอีกสักระยะเวลาหนึ่ง (Higher for Longer) และ 3)   ESG หรือ Environmental, Social Responsible และ Governance ซึ่งเป็นเรื่องที่มีการพูดถึงเป็นวงกว้าง โดยที่หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนเริ่มตื่นตัว ให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแวดวงการเงิน เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ที่หันมาให้ความสนใจกับการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจที่มี ESG Rating ที่ดี (Responsible Lending) แวดวงตลาดทุน เช่น สำนักงาน ก.ล.ต. บริษัทจดทะเบียน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และบริษัทหลักทรัพย์ ที่หันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนที่มีความยั่งยืน มีความรับผิดชอบต่อสังคมในภาพรวม (Responsible Investment) รวมถึงมีการเริ่มพูดถึงระดับขององค์กรที่เกี่ยวข้องข้างต้นว่าควรจะเป็น Responsible Entities หรือ Responsible Companies ด้วยเช่นกัน

     สำหรับประเทศไทยนั้น ถือว่าค่อนข้างโชคดี เนื่องจากมีระบบด้านสาธารณสุขที่เหมาะสมและมีความหลากหลาย ตั้งแต่ระดับชุมชน ไล่เลียงจาก หมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด ไปจนถึงโรงพยาบาลของภาครัฐ และภาคเอกชนที่กระจายตัวอยู่ตามหัวเมืองหลักของประเทศไทย ซึ่งมีศักยภาพเพียงพอในการรองรับจำนวนของประชากรในประเทศ รวมถึงสามารถดึงดูดเม็ดเงินจากชาวต่างชาติที่ต้องการรับบริการทางการแพทย์ได้ด้วยเช่นกัน ทำให้ประชากรของประเทศสามารถวางแผนการรักษาสุขภาพผ่านระบบสาธารณสุขที่เหมาะสม สอดคล้องกับงบประมาณ และเวลาที่มีได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

     อย่างไรก็ตาม การออมผ่านการวางแผนทางการเงินที่เหมาะสมจะช่วยให้ประชากรในประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น คงต้องแบ่งประชากรออกเป็นตามช่วงอายุเพื่อให้เห็นภาพการบริหารจัดการแผนทางการเงินที่เหมาะสม เป็น 3 ช่วงอายุ ได้แก่ 1) อายุ 1-25 ปี วัยศึกษาหาความรู้ (Educational Age) ซึ่งเป็นวัยที่ต้องพึ่งพาครอบครัวเป็นหลัก (Dependent Age) 2) อายุ 25-60 ปี วัยทำงาน (Working Age) หรือ เป็นวัยที่เริ่มสะสมความมั่งคั่ง (Wealth Accumulation Age) โดยหากมองในมิติของประเทศ วัยนี้เป็นวัยที่เป็นส่วนสนับสนุนหลักในมิติของรายได้ให้กับประเทศ ตามที่เราเคยได้ยินว่า รายได้ประชาชาติต่อหัวส่วนใหญ่แล้วมาจากกลุ่มวัยทำงานนี้เป็นหลัก ซึ่งจะมีส่วนช่วยในด้านงบประมาณต่าง ๆ ของประเทศผ่านรายได้ทางการคลังที่รัฐเรียกเก็บได้จากคนวัยนี้ และ 3) อายุมากกว่า 60 ปี หรือ วัยเกษียณ (Retirement Age) ซึ่งเป็นวัยที่ไม่สามารถหารายได้ได้เหมือนกับช่วงวัยทำงาน หรือ เรียกว่าเป็นวัยที่ต้องพึ่งพาเงินเก็บที่ได้จากการทำงานในอดีตเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ปรากฎพบว่า ประชากรไทยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 10 หรือ มากกว่า 7 ล้านคน และได้มีการคาดการณ์กันว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20-30 ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ซึ่งหากมีการวางแผนทางการเงินที่ดีไว้ตั้งแต่ช่วงวัยทำงาน จะทำให้สามารถดำรงชีวิตในวัยเกษียณได้อย่างมีความสุข 




    หากเราพิจารณาเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่มคนวัยทำงานแล้ว เราจะสามารถแบ่งประเภทของกลุ่มวัยทำงานได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มที่ทำงานประจำ (Full Employed) และกลุ่มที่ทำงานส่วนบุคคล (Self Employed) ซึ่งประเภทแรกที่ทำงานประจำนั้น อยู่ภายใต้ระบบ และมีรายได้ที่ค่อนข้างแน่นอน กล่าวคือ มีเงินรายได้รายเดือน และมีสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่รัฐ นายจ้าง หรือ บริษัทที่ทำงานอยู่จัดหาให้ ในขณะที่กลุ่มที่ทำงานส่วนบุคคลนั้น เป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน และมีความผันผวนของรายได้ค่อนข้างสูง ขึ้นกับประเภทของงาน ยกตัวอย่าง เช่น เจ้าของกิจการ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (Freelance) กลุ่มนักกีฬาอาชีพ (Sports professional) เป็นต้น  

     ทั้งนี้ หากมีการวางแผนทางการเงินที่เหมาะสมจะทำให้ประชากรในกลุ่มนี้สามารถเกษียณสุขได้ โดยกลุ่มที่อยากมาชวนคุยกันในวันนี้ จะเป็นกลุ่มนักกีฬาอาชีพ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาเราจะได้ยินเรื่องราวต่างๆ ของนักกีฬาอาชีพที่ประสบความสำเร็จ ได้รับรายได้มากมาย แต่สุดท้ายหลังเกษียณอายุกลับประสบปัญหาในการบริหารจัดการเงินรายได้ที่เคยได้รับมาจนกระทั่งกลายเป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งหากนักกีฬาอาชีพเหล่านี้สามารถบริหารจัดการ หรือ วางแผนทางการเงินได้ดีตั้งแต่ในช่วงที่ยังสามารถหารายได้ได้นั้น จะทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่หลังเกษียณอายุกีฬาได้อย่างมีความสุข ทั้งนี้ นักกีฬาอาชีพนั้น มักมีช่วงเวลาการทำงานที่สั้น เมื่อเทียบกับอาชีพอื่น ๆ จึงควรเรียนรู้เพื่อวางแผนการบริหารจัดการรายได้ และรายจ่ายให้มีประสิทธิภาพที่สุด 

     โดยส่วนใหญ่แล้วนักกีฬาอาชีพจะได้รับรายได้หลากหลายรูปแบบขึ้นกับประเภทของกีฬา และมีความผันผวนค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในกลุ่มนักกีฬาที่ใช้ร่างกายในการต่อสู้ เช่น นักมวยอาชีพ ซึ่งส่วนใหญ่อาจขึ้นชกได้ไม่เกิน 3 ไฟต์ต่อปี ทำให้รายได้ไม่สม่ำเสมอ หากแต่รายจ่ายในชีวิตประจำวันยังคงเดิม หากพิจารณาถึงตรงนี้ สิ่งสำคัญ

     ประการแรก คือ จะต้องไม่สร้างภาระที่ไม่จำเป็น เช่น การใช้จ่ายฟุ่มเฟือยไปกับสิ่งของที่ไม่จำเป็น รวมถึงการกู้หนี้ยืมสินทั้งในและนอกระบบ แต่ควรเลือกที่จะบริหารจัดการเงินที่ได้รับเป็นค่าตอบแทนจากการแข่งขันกีฬาให้เกิดดอกออกผลเพียงพอที่จะนำมาใช้จ่ายเพื่อดูแลตนเองและครอบครัว ซึ่งอาจเริ่มจากการออมเงินที่เหมาะสม และลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางด้านการลงทุนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ตนเองนั้นยอมรับได้ โดยเริ่มจากการทำแบบประเมินความเสี่ยง และแบบประเมินความเหมาะสมในการลงทุน (Suitability Test) เพื่อให้ผู้วางแผนทางการเงิน หรือ ที่ปรึกษาด้านความมั่งคั่งสามารถช่วยให้คำแนะนำในการจัดพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมให้กับกลุ่มนักกีฬาอาชีพได้ โดยพอร์ตการลงทุนที่จัดให้กับนักกีฬาอาชีพควรที่จะให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอเพื่อนำมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตในช่วงที่ไม่มีรายได้หลักนั่นเอง




ที่มา: โครงการ “PLAY TO WIN - สังเวียนชีวิตที่แพ้ไม่ได้” ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่าง บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) วัน แชมเปียนชิพ ประเทศไทย และ สนามมวยเวทีลุมพินี โดยศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก เพื่อให้ความรู้ด้านการเงินและการวางแผนทางการเงินแก่นักมวยและบุคลากรในวงการมวย ซึ่งจัดขึ้นที่สนามมวยเวทีลุมพินี วันอังคารที่ 10 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา

     กล่าวโดยสรุป การสร้างความมั่งคั่งผ่านการออมเพื่อการเกษียณสุข (Happy Retirement) ในพลวัตการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างการลงทุนในปัจจุบันและในอนาคตนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่ผู้มีรายได้ควรคำนึงถึง โดยเฉพาะในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านด้านโครงสร้างทางสังคมเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging Society) ทำให้ประชากรของประเทศมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น และเข้าสู่วัยเกษียณอายุซึ่งอาจมีรายได้ไม่เพียงพอในการดำรงชีพและการดูแลสุขภาพ โดยนอกจากการออมที่รัฐได้มอบให้แล้ว การออมในอีก 2 เสาหลัก คือ การออมภาคบังคับ และการออมภาคสมัครใจ ก็มีความสำคัญด้วยเช่นกัน 


โดย ยศกร ฟอลเล็ต

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็กซ์สปริง จำกัด