ความผิดพลาดอันดับหนึ่งของพ่อแม่...เมื่อสอนลูกเกี่ยวกับเรื่อง "เงิน"




ความผิดพลาดอันดับหนึ่งของพ่อแม่...เมื่อสอนลูกเกี่ยวกับเรื่อง "เงิน"

ถ้ามีใครบนโลกใบนี้จะเข้าใจในความสำคัญของวินัยทางการเงิน คนนั้นคงจะหนีไม่พ้นคนที่ชื่อ วอเรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett)

ก่อนที่เขาจะเป็นมหาเศรษฐีนักลงทุน และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Berkshire Hathaway อย่างในทุกวันนี้ ตำนานนักลงทุนคนนี้ได้เริ่มต้นทำธุรกิจเล็กๆมาแล้วหลายอย่าง

เริ่มตั้งแต่ตอนอายุ 6 ขวบ เมื่อเขาซื้อโค้ก 1 แพ็ค (6 ขวด) มาด้วยเงิน 25 เซนต์ (0.25 ดอลล่าร์) และขายมันออกไปในราคาขวดละ 1 นิกเกิล หรือประมาณ 5 เซนต์ ซึ่งเท่ากับเขาจะได้กำไรถึง 20% ต่อโค้กที่ซื้อมา 1 แพ็คเลยทีเดียว และนอกจากโค้กแล้ว เขายังเคยขายนิตยสาร และหมากฝรั่ง แบบเคาะประตูขายตามบ้านอีกด้วย

"พ่อผมคือแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่" และ "สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากเขาตั้งแต่ตอนเด็กๆทำให้ผมมีนิสัยที่ดีติดมาตั้งแต่ยังเล็ก ซึ่งบทเรียนสำคัญที่เขาสอนผมนั่นก็คือการประหยัดและอดออมนั่นเอง" บัฟเฟตต์ให้สัมภาษณ์กับ CNBC เมื่อตอนปี 2013

และเมื่อถามบัฟเฟตต์ว่าอะไรคือความผิดพลาดที่ใหญ่หลวงที่สุดเมื่อพ่อแม่สอนเรื่องเงินให้กับลูกของเขา บัฟเฟตต์ตอบว่า "บางครั้งพ่อแม่ก็รอจนลูกเป็นวัยรุ่นแล้วถึงจะสอนเรื่องการบริหารเงิน ทั้งๆที่พ่อแม่ควรจะสอนเรื่องนี้ได้ตั้งแต่ก่อนลูกเข้าโรงเรียนแล้ว"

- เวลาคือตัวแปรสำคัญ -

ใช่แล้ว ท่านผู้อ่านไม่ได้อ่านผิดไป "สอนก่อนเข้าโรงเรียน" โดยงานวิจัยพบว่า 80% ของสมองมนุษย์จะเริ่มพัฒนาตอนอายุ 3 ขวบ

งานวิจัยชิ้นหนึ่งโดย Cambridge University พบว่าเด็กๆสามารถเข้าใจแนวคิด และเรียนรู้พื้นฐานง่ายๆทางการเงินตั้งแต่อายุ 3-4 ขวบ และเมื่ออายุ 7 ขวบ สมองเด็กจะพัฒนาจนเป็นรากฐานความคิดของพฤติกรรมการเงินเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ได้

พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็ล้วนรู้ดีว่าการสอนลูกๆให้รู้จักการบริหารจัดการเงินของตัวเองให้ดีมันสำคัญขนาดไหน แต่สิ่งสำคัญนั้นก็คือ ความแตกต่างกันระหว่าง การรู้ว่าต้องทำ กับการลงมือทำ

ผลสำรวจโดย T. Rowe Price ซึ่งสำรวจพ่อแม่จำนวน 1,014 คู่ ที่มีลูกอายุระหว่าง 8 - 14 ปี และสำรวจผู้ใหญ่ที่มีอายุระหว่าง 18 - 24 ปี อีก 1,000 คน พบว่ามีพ่อแม่เพียง 4% เท่านั้น ที่สอนลูกๆของพวกเขาเกี่ยวกับการเงิน ขณะที่พ่อแม่จำนวน 30% เริ่มสอนลูกๆของเขาเกี่ยวกับเรื่องการเงินตอนลูกๆของเขาอายุ 15 ปีขึ้นไป และมีพ่อแม่อีกถึง 14% ที่ยอมรับว่าเขาไม่เคยสอนเรื่องนี้กับลูกๆเขาเลย

- บทเรียนต่างๆที่วอเรน บัฟเฟตต์สอนลูกๆของเขา -

ในปี 2011 บัฟเฟตต์ช่วยสนันสนุนการสร้างซีรีย์การตูนเรื่องหนึ่งชื่อ "Secret Millionaire's Club" ซึ่งจำลองตัวเขาเองเป็นพี่เลี้ยงให้กับเด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่ง โดยในชีวิตจริงนั้นสิ่งที่เขาสอนลูกๆทั้งสามคนของเขาก็เป็นสิ่งที่นำมาสร้างเป็นบทเรียนทั้ง 26 บทนั่นเอง

คราวนี้มาดูตัวอย่างบทเรียน 4 บท ที่เขาสอนลูกๆของเขากัน

1. ทำยังไงให้รู้จักคิดที่จะพลิกแพลง - How to be a flexible thinker ?

เป้าหมายของบทเรียนนี้ คือการจูงใจให้ลูกๆไม่ยอมแพ้เมื่อเจอปัญหาที่แก้ไม่ได้ในครั้งแรก ความสามารถในการคิดอย่างสร้างสรรค์ ยืดหยุ่น และคิดนอกกรอบจะช่วยให้พวกเขาผ่านความท้าทายทางการเงินที่จะต้องเจอในอนาคตได้

ไอเดียการจัดกิจกรรม

- พาลูกๆไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์หรืองานแสดงศิลปะ แล้วถามลูกๆถึงไอเดียในการวาดรูปภาพในหลายๆสไตล์ และเมื่อกลับมาที่บ้านก็ให้พวกเขาได้ลองวาดรูปด้วยตัวเอง ระดมความคิดช่วยกันว่าจะสามารถใช้เครื่องมือหรือวัสดุใดบ้างนอกจากพู่กันและแปรงในการวาดรูป เช่น ฟองน้ำ ไม้ปั่นหู นิ้วมือ เป็นต้น

- เปลี่ยนถังขยะหรือของที่ต้องทิ้งแล้วในบ้านให้เป็นขุมทรัพย์ โดยการหาทางนำมันกลับมาใช้ใหม่ เช่น เอาฝาขวดมาทำเป็นหมากฮอส เอากล่องซีเรียลอาหารเช้ามาทำเป็นที่เก็บนิตยสาร เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้เด็กๆสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี สอนการประหยัดเงิน และยังช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปได้พร้อมๆกัน

2. ต้องเริ่มออมเงินกันยังไง - How to start saving money ?

เบนจามิน แฟรงคลิน บิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐอเมริกาเคยกล่าวว่า “เงินหนึ่งเพนนีที่ประหยัดได้ ก็เหมือนได้เงินเพิ่มมาอีกหนึ่งเพนนี” หรือ “A penny saved is a penny earned” ซึ่งจะช่วยให้ลูกๆเรียนรู้ที่จะบริหารจัดการเงินของตัวเอง และที่สำคัญคือจะได้เข้าใจความแตกต่างระหว่าง "ความอยากได้" และ "ความจำเป็น”

ไอเดียการจัดกิจกรรม

- เอาโหลใส่เงินให้กับลูกๆไว้สองใบ ใบหนึ่งเอาไว้เก็บเงินออม และอีกใบหนึ่งเอาไว้เก็บเงินที่ต้องใช้ และทุกๆครั้งที่ลูกๆได้เงินมา ไม่ว่าจะจากการที่ได้ค่าขนม เงินของขวัญ หรือเงินที่ได้จากค่าจ้างทำงานเล็กๆน้อยๆ พูดคุยกับเขาและให้เขาคิดว่าเขาควรจะแบ่งเงินเก็บไว้ในโถทั้งสองโถอย่างไร

- ให้ลูกๆของคุณจดรายชื่อสิ่งของหรือแปะรูปภาพสิ่งของ 5 - 10 อย่างที่ต้องการซื้อ แล้วค่อยๆถามไปทีละชิ้นๆว่าของชิ้นนั้น เป็นสิ่งที่ “อยากได้” หรือ “จำเป็นต้องมี” เช่น ของเล่นชิ้นใหม่อาจจะเป็นอะไรที่เขาอยากได้ แต่เป้สะพายหลังอาจจะเป็นสิ่งที่เขาจำเป็นต้องมี

3. จะแยกแยะคุณค่ากับราคาออกจากกันได้อย่างไร - How to differentiate between price and value ?

เราทุกคนล้วนเป็นเหยื่อหรือหลงมัวเมาที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าแบรนด์เนม ไม่ว่าจะเป็นรองเท้า กระเป๋า หรือสิ่งของต่างๆที่เรารู้ทั้งรู้ว่าอาจจะได้ของที่เหมือนๆกันแต่จ่ายเงินน้อยกว่า โดยแนวคิดเบื้องหลังบทเรียนนี้ คือต้องการให้ลูกๆได้เข้าใจเทคนิคต่างๆของการโฆษณาเพื่อจูงใจให้ซื้อสินค้าหรือบริการ และทำให้รู้และแยกแยะได้ว่าอะไรที่คุ้มค่าหรือไม่คุ้มค่าที่จะจ่ายเงินออกไป

ไอเดียการจัดกิจกรรม

- ลองจดรายชื่อสินค้าที่คุณต้องการซื้อจากร้านค้าสะดวกซื้อ แล้วคุณกับลูกๆก็ช่วยกันหาดูข้อมูลในโบรชัวร์ หนังสือพิมพ์ และเว็บไซต์ เพื่อดูว่าสินค้ารายการไหนที่ลดราคาอยู่บ้าง เปรียบเทียบราคาขายของแต่ละร้านค้า แล้วช่วยกันเลือกร้านค้าที่ขายราคาถูกที่สุดในสินค้าประเภทเดียวกัน

- เลือกโฆษณามาสักชิ้นหนึ่งจากนิตยสารหรือสื่อใดสื่อหนึ่งก็ได้ แล้วลองช่วยกันคิดกับลูกๆของคุณว่าโฆษณานี้ต้องการขายอะไร โฆษณาต้องการบอกอะไร อะไรคือสิ่งที่ทำให้ลูกๆคุณสนใจโฆษณานี้ ลูกๆคุณรู้สึกอย่างไรเมื่อดูโฆษณานี้ และสุดท้ายสอนให้เขามองให้ออกว่าอะไรคือสิ่งจูงใจที่ทำให้พวกเขาต้องการซื้อสินค้าชิ้นนี้

4. การตัดสินใจที่ดีต้องทำอย่างไร - How to make good decisions ?

กุญแจสำคัญของการตัดสินใจที่ชาญฉลาดคือการแยกแยะได้ว่าอะไรคือผลลัพธ์สุดท้ายในอนาคตของทางเลือกแต่ละทาง

ไอเดียการจัดกิจกรรม

- ลองจำลองสถานการณ์ที่ลูกๆคุณต้องตัดสินใจเลือกแล้วสอนเขาว่าผลลัพธ์ของการเลือกในแต่ละทางเลือกคืออะไร รวมถึงผลกระทบต่อเนื่องจากการเลือกนั้นจะเป็นอย่างไรด้วย ยกตัวอย่างเช่น หากตอนนี้ครอบครัวเราอยากได้ทีวีใหม่ แต่แอร์ก็ดันมาเสียพอดี ซึ่งเราก็มีเงินจำกัด ไม่พอที่จะทำทั้งสองอย่างพร้อมกัน ซึ่งถ้าเราไม่ซ่อมแอร์ในหน้าร้อนนี้มันก็จะร้อนมากๆ ดังนั้นเมื่อเราเอาเงินที่มีอยู่ซ่อมแอร์แล้วมีเงินเหลือ เราก็จะได้มีเวลาคิดถึงการซื้อทีวีใหม่ได้

- เตรียมลูกๆให้พร้อมที่จะตัดสินใจได้ดี เช่น หากลูกๆคุณต้องการซื้อแผนดีวีดี ลองถามเขาดูว่ามันจำเป็นมากไหมที่ต้องซื้อ ทำไมไม่ลองเช่าดูจากห้องสมุดล่ะ เป็นต้น สุดท้ายนี้ "ไม่มีอะไรสายเกินไป” ดังนั้นการปลูกฝังให้ลูกๆของคุณมีนิสัยประหยัดและรู้จักอดออมนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จในอนาคต

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก CNBC