จะพูดไปใครๆก็ไม่อยากเป็นหนี้ ซึ่งการเป็นหนี้อาจฟังดูเป็นสิ่งที่ไม่น่าดีเมื่อเกิดขึ้น แต่สำหรับนักลงทุนที่มีความรู้และความเข้าใจในการใช้ประโยชน์และจัดการกับสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงอาจเกิดโอกาสในอุปสรรคนี้ก็เป็นได้ วันนี้ XSpring จะพาไปแนะนำวิธีหาโอกาสและการทำกำไรในอุปสรรคที่ซ่อนอยู่ที่นักลงทุนไม่ควรพลาด NPL (Non-Performing Loan) หรือ หนี้เสีย คือ สินเชื่อเงินกู้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ การเพิ่มของมูลค่าสินทรัพย์ที่สามารถนำไปต่อยอดได้ หนี้เสียมาจากสถาบันทางการเงินเป็นคนปล่อยสินเชื่อ และผู้กู้มีการผิดนัดชำระไม่ได้ชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ตามระยะเวลาที่กำหนดภายใน 90 วัน ซึ่งสิ่งนี้เองทำให้สถาบันการเงินมองว่า เป็นหนี้เสียหรือ NPL ทันที ทำให้ผู้ขอสินเชื่อติดสถานะ NPL และไม่มีความน่าเชื่อถือทางด้านการเงิน ทำให้อาจเกิดปัญหาต้องการที่จะกู้สินเชื่อในอนาคต ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่าในไตรมาสที่ 2 ปี 2567 มีอัตรา NPL ในประเทศไทยอยู่ที่ 2.84% เพิ่มขึ้นจาก 2.8% ในไตรมาสก่อนหน้า คิดเป็น 5.4 แสนล้านบาท หนี้เสียส่วนใหญ่เกิดจากสินเชื่อส่วนบุคคล โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งมีอัตราหนี้เสียเพิ่มขึ้นเป็น 3.71% จาก 3.48% ในไตรมาสแรก ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของหนี้เสียเกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้ผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามที่กำหนด - กลยุทธ์การสร้างโอกาสในหนี้เสีย หนี้เสียอาจส่งผลดีต่อนักลงทุนที่อยากสร้างโอกาสในการทำกำไร ซึ่งมีกลยุทธ์มาแนะนำ ดังนี้
1. สามารถเข้าซื้อหนี้เสียในราคาที่ต่ำกว่าตลาดได้ นักลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญสามารถเข้าซื้อหนี้เสียจากธนาคารหรือสถาบันการเงินในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าหน้าสัญญา ซึ่งช่วยให้สามารถทำกำไรได้เมื่อสามารถฟื้นฟูหรือปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ได้สำเร็จ นอกจากนี้การเข้าซื้อหนี้เสียในราคาถูกมักจะมาพร้อมกับสินทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกัน เช่น อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสามารถนำไปขายต่อหรือปล่อยเช่าเพื่อสร้างรายได้ 2. การฟื้นฟูและเข้าปรับโครงสร้าง NPL บางกรณีอาจไม่ได้หมายถึง หนี้ที่ผู้กู้ไม่ได้ชำระเงิน แต่อาจเป็นผลจากการกระทบจากเศรษฐกิจชั่วคราว นักลงทุนที่มีกระบวนการในการปรับโครงสร้างหนี้หรือฟื้นฟูทางด้านหนี้เสียได้ อาจมีโอกาสในการทำให้หนี้กลับมาก่อให้เกิดรายได้ นอกจากนี้ยังอาจได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ยหรือเงินต้นในอัตราที่สูงกว่าปกติ 3. สามารถเห็นช่องว่างในการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพในระยะยาว NPL ที่เกิดจากธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ หรือการเปลี่ยนแปลงในตลาด อาจเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนในการซื้อกิจการหรือทรัพย์สินในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง แต่ต้องมีการมองการณ์ไกลว่าธุรกิจเหล่านั้นมีศักยภาพในการฟื้นตัวเมื่อสภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น ที่อาจจะทำให้เกิดกำไรได้อย่างมหาศาลในระยะยาว 4. เพิ่มโอกาสจากการลงทุนในกองทุนบริหารสินทรัพย์ ในประเทศไทย มีการตั้งกองทุนบริหารสินทรัพย์ที่เชี่ยวชาญในการจัดการกับหนี้เสียและสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ นักลงทุนที่สนใจในหนี้เสียสามารถเข้าร่วมลงทุนในกองทุนเหล่านี้ ซึ่งมักจะมีการกระจายความเสี่ยงในหลาย ๆ สินทรัพย์ที่เป็นหนี้เสีย ซึ่งนักลงทุนอาจใช้ความเชี่ยวชาญของผู้จัดการกองทุนในการสร้างผลตอบแทนได้ 5. ใบเบิกทางในการทำธุรกิจ การลงทุนในหนี้เสียสามารถมองเป็นการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยตรง อาจจะเป็นใบเบิกทางในการช่วยทำให้เกิดธุรกิจจากบุคคลที่มีหนี้เสียหลังจากฟื้นตัว อาจนำไปสู่โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ หรือการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจระยะยาว 6. การเพิ่มมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ หนี้เสียที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์มักมาพร้อมกับทรัพย์สินที่ถูกยึดหรือกำลังถูกขายทอดตลาด นักลงทุนที่สนใจเข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์ในราคาที่ต่ำและนำไปปรับปรุงเพื่อเพิ่มมูลค่า ก่อนที่จะขายต่อหรือปล่อยเช่า การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์จากหนี้เสียเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่นักลงทุนใช้เพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาว อย่างไรก็ตาม แม้หนี้เสีย จะดูเป็นสิ่งที่นักลงทุนหลายคนต้องการหลีกเลี่ยง แต่สำหรับนักลงทุนที่เข้าใจกลไกและเข้าใจในการบริหารความเสี่ยงและมีวิสัยทัศน์ระยะยาว หนี้เสียสามารถเปิดประตูสู่โอกาสในการทำกำไรที่น่าสนใจ จนคาดไม่ถึงก็เป็นได้ แต่ทั้งนี้ก็ไม่อยากให้นักลงทุนมองข้ามปัญหาของ NPL ที่อาจส่งผลกระทบในภายหลังได้ ควรศึกษาและใช้กลยุทธ์อย่างถูกวิธีเพื่อจะได้สร้างผลตอบแทนที่เหมาะสม
|