ตรวจ DNA นักลงทุน คุณเป็นแนวไหน?




การลงทุนมีหลายแบบ หลายแนว หลายสไตล์ เช่น กองทุนรวม ตารสารหนี้ หุ้น อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสินทรัพย์เหล่านี้ก็เป็นที่รู้จักกันในแวดวงของนักลงทุนอยู่แล้ว แต่สิ่งที่อาจจะไม่รู้จักดีหรือไม่ได้ทำความเข้าใจอย่างจริงจังอาจเป็นสไตล์การลงทุนของนักลงทุนมากกว่า เพราะจริงๆ ทุกคนมีสไตล์และนิสัยการลงทุนที่แตกต่างกันไป ซึ่งมักจะขึ้นอยู่กับความรู้สึกต่อความเสี่ยง วัตถุประสงค์ทางการเงิน และวิธีการตัดสินใจ วันนี้ XSpring จะพาคุณไปหาสไตล์การลงทุน ว่าคุณคือนักลงทุนแนวไหน ลองมองหาลักษณะสไตล์ต่อไปนี้ อาจจะพบแนวทางการลงทุนที่เหมาะสมก็เป็นได้ 

1. นักลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investor) หรือนักลงทุนสาย VI 
Value Investor การลงทุนที่มีแนวคิดในการค้นหาหุ้นหรือสินทรัพย์ที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงโดยมองหาจากปัจจัยพื้นฐาน มีปรมาจารย์ด้านการลงทุน VI อย่าง Warren Buffett เพราะเขามีคติ “ การลงทุนเน้นคุณค่า ถือหุ้นที่ดี ลงทุนระยะยาว ” ซึ่งจะเลือกลงทุนในสิ่งที่ตนเองเข้าใจ เน้นทำความเข้าใจในบริษัทก่อนคิดลงทุน ว่ามีการประกอบธุรกิจอะไร เน้นการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก และถ้าคุณชอบการวิเคราะห์ การอ่านข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับบริษัทหรืองบการเงิน และมองหาหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่า คุณอาจมีสไตล์การลงทุนที่เหมาะกับการลงทุนแบบระยะยาว โดยเน้นการค้นหาความคุ้มค่าที่แท้จริง ชอบความมั่นคงและการวิเคราะห์
 
2. นักลงทุนแบบเติบโต (Growth Investor)
Growth Investor หรือ การลงทุนเน้นหุ้นเติบโต ซึ่งมักเป็นหุ้นเกิดใหม่และเป็นกิจการที่มีรายได้เติบโตไวกว่าหุ้นกลุ่มอื่นๆ หนึ่งในหัวใจสำคัญของการลงทุนตามแนวคิดของ Peter Lynch นักลงทุนและอดีตผู้จัดการกองทุนระดับตำนาน ผู้ชื่นชอบการลงทุนหุ้นเติบโต กล่าวไว้ว่า หุ้นกลุ่มนี้ควรเติบโตปีละ 20 – 25% การเลือกหุ้นที่มีศักยภาพในการเติบโต  ส่วนใหญ่จะที่มีค่า PE สูง หุ้นกลุ่มนี้มักจะไม่จ่ายปันผลหรือมีอัตราการจ่ายปันผลต่ำ เพราะต้องคงเงินไว้ใช้ในกิจการเพื่อสร้างการเติบโตในปีต่อๆ ไป เหมาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ และไม่เน้นรายได้จากเงินปันผล แต่คาดหวังผลตอบแทนจากการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้น (Capital Gain)  และถ้าคุณชอบการลงทุนในธุรกิจที่มีการเติบโตสูงและเชื่อมั่นในศักยภาพของบริษัทใหม่ ๆ ที่กำลังขยายตัว คุณอาจกำลังมองหามูลค่าที่กำลังเติบโตในอนาคต

3. นักลงทุนเชิงเทคนิค (Technical Investor)
Technical Investor คือ การวิเคราะห์เชิงเทคนิคเพื่อวางกลยุทธ์ในการซื้อขายหลักทรัพย์ อาศัยการศึกษาข้อมูลราคาในอดีต ปริมาณการซื้อขาย และตัวชี้วัด เพื่อคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตและหาจังหวะที่เหมาะสมในการซื้อขาย จุดสำคัญคือ การวิเคราะห์รูปแบบกราฟ เส้นแนวรับและแนวต้าน และตัวชี้วัดทางเทคนิค เช่น Moving Averages ซึ่งหากคุณมีนิสัยชอบการดูกราฟ หรือใช้เครื่องมือเชิงเทคนิค และเชื่อว่าการเคลื่อนไหวของราคาบอกได้ทุกสิ่ง ถ้าชอบคุณน่าจะเป็นนักลงทุนที่ชอบมองหาสัญญาณในการซื้อขายจากข้อมูลราคาและปริมาณการซื้อขาย

4. นักลงทุนกระแสเงินสด (Income Investor)
Income Investor คือ การมุ่งเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้างรายได้ต่อเนื่องในรูปแบบของเงินปันผล ดอกเบี้ย หรือรายได้ประจำอื่น ๆ แทนการเพิ่มไปเพิ่มมูลค่าของสินทรัพย์ที่ถือครองอยู่ นักลงทุนสไตล์นี้มักเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มั่นคงและให้ผลตอบแทนเป็นกระแสเงินสดสม่ำเสมอ เช่น หุ้นปันบริษัทที่มีการจ่ายเงินปันผลเป็นประจำ, ตราสารหนี้ ที่ให้ดอกเบี้ยคงที่ตามที่ระบุในสัญญา , กองทุนอสังหาริมทรัพย์ (REITs) กองทุนที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และจ่ายเงินปันผลจากรายได้ค่าเช่า สไตล์การลงทุนนี้จะเน้นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำและให้รายได้สม่ำเสมอ เพื่อใช้เป็นแหล่งรายได้ที่มั่นคงระยะยาว 

5. นักลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง (Diversified Investor)
Diversified Investor คือ การกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนในระยะยาว แนวคิดหลักคือ หลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเดียว เพราะอะไรก็ไม่แน่นอน เถ้าสินทรัพย์นั้นมีปัญหา มูลค่าของพอร์ตของเราทั้งหมดอาจผันผวนอย่างแรง ซึ่งการกระจายความเสี่ยงจะช่วยลดผลกระทบของความผันผวนในตลาดต่าง ๆ เสริมสร้างพอร์ตให้มั่นคงอีกด้วย ถือเป็นวิธีการลงทุนยอดฮิตที่นักลงทุนนิยมใช้กัน การกระจายความเสี่ยงมีการลงทุนหลายรูปแบบ เช่น หุ้น, ตราสารหนี้, ทองคำ, อสังหาริมทรัพย์ ถ้าคุณไม่ชอบเสี่ยงมากและชอบลงทุนในหลายสินทรัพย์เพื่อป้องกันความเสี่ยง คุณน่าจะเป็นนักลงทุนที่ใช้เทคนิคกระจายความเสี่ยงเพื่อลดโอกาสในการสูญเสียเงินทุน

6. นักลงทุนเชิงรุก (Active Trader)
Active Trader คือ แนวทางการลงทุนที่มุ่งเน้นการซื้อขายหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่องในระยะสั้น โดยหวังทำกำไรจากความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ในตลาด นักลงทุนมักใช้กลยุทธ์การซื้อขายที่รวดเร็วและเฉียบขาด 

  • กลยุทธ์ของนักลงทุนเชิงรุกมักจะประกอบด้วย

1. การซื้อขายรายวัน (Day Trading) การซื้อและขายหลักทรัพย์ภายในวันเดียวกัน โดยคาดหวังกำไรจากการเคลื่อนไหวของราคาในวันนั้น ๆ

2. การซื้อขายตามจังหวะ (Swing Trading) คาดหวังการทำกำไรจากแนวโน้มของราคาในช่วงเวลาสั้น 

3. การเก็งกำไรระยะสั้น (Scalping) การซื้อและขายหลักทรัพย์ภายในไม่กี่นาทีหรือไม่กี่ชั่วโมง เพื่อทำกำไรเล็กน้อยแต่บ่อยครั้ง

4. การใช้ข้อมูลทางเทคนิค (Technical Analysis) เช่น การวิเคราะห์รูปแบบกราฟหรือใช้ดัชนีชี้วัดต่าง ๆ เพื่อระบุแนวโน้มและจุดเข้าออกของตลาด 

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนเชิงรุกมักมีความเสี่ยงที่สูง ต้องติดตามตลาดอยู่ตลอด ต้องมีความรู้ในการวิเคราะห์ทางเทคนิค และใช้เครื่องมือซื้อขายอัตโนมัติได้เมื่อหากสินทรัพย์อยู่ในจุดที่เสี่ยง ซึ่งถ้าคุณมีเวลาติดตามตลาดอย่างใกล้ชิดและชอบการซื้อขายบ่อยครั้งเพื่อใช้ประโยชน์จากความเคลื่อนไหวของตลาดระยะสั้น คุณอาจจะเป็นนักลงทุนเชิงรุกที่มีความเชี่ยวชาญในการจับจังหวะตลาด

7. นักลงทุนเชิงป้องกันความเสี่ยง (Hedging Investor)

Hedging Investor  คือ การลงทุนที่ควบคุมความเสี่ยงในการลงทุนโดยใช้กลยุทธ์การป้องกันความเสี่ยง (Hedging) ซึ่งเป็นวิธีการป้องกันความเสียหายจากการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ โดยนักลงทุนเชิงนี้จะใช้เครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน โดยเฉพาะในสภาวะตลาดที่มีความผันผวนสูง ในตลาดสินทรัพย์มีกลยุทธ์มากมายเพื่อนักลงทุนเชิงป้องกันความเสี่ยง เช่น การใช้ตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) ฟิวเจอร์ส (Futures) ออปชัน (Options) และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์หลัก เช่น หุ้น สินค้าโภคภัณฑ์ หรือค่าเงิน

นักลงทุนเชิงป้องกันความเสี่ยงมักจะมองหาวิธีการลดผลกระทบของความผันผวนในตลาดหรือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เพื่อรักษามูลค่าของพอร์ตการลงทุน หากคุณชอบและสนใจในการใช้อนุพันธ์หรือการจัดการความเสี่ยงเพื่อป้องกันพอร์ตการลงทุน คุณอาจจะชอบกลยุทธ์ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบ

ดังนั้น การเข้าใจรูปแบบกลยุทธ์การลงทุน และเลือกแนวทางการลงทุนที่เหมาะสมกับนิสัยหรือสไตล์ของคุณจะช่วยให้คุณจัดการความเสี่ยงได้ดีขึ้น และสร้างผลตอบแทนที่สอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงิน รวมถึงการผสมผสานรูปแบบการลงทุนและปรับเปลี่ยนให้เกินสมดุลที่สุด แต่ไม่ว่ากลยุทธ์การลงทุนรูปแบบไหนย่อมมีความเสี่ยงเสมอ นักลงทุนต้องพิจารณาข้อมูลและปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์อย่างไม่ประมาทก่อนตัดสินใจลงทุน