เทคนิคเลือกหุ้น 6 ประเภท ของปีเตอร์ ลินซ์




เทคนิคเลือกหุ้น 6 ประเภท ของปีเตอร์ ลินซ์

วันนี้ผมอยากจะนำวิธีการเลือกหุ้นของหนึ่งในเซียนหุ้นระดับโลกตลอดกาลอย่างคุณปีเตอร์ ลินซ์ ซึ่งได้นำเสนอมุมมองต่อประเภทของหุ้นสามัญที่ค่อนข้างน่าสนใจไว้ทั้งหมด 6 ประเภท

ประเภทแรกคือหุ้นที่คนส่วนมากทั้งในตลาดหุ้นและนอกตลาดหุ้นมักจะรู้จักคุ้นชินเป็นอย่างดี หุ้นกลุ่มนี้เรียกว่าหุ้นเติบโตช้าหรือ “The Slow Grower” มักจะเป็นหุ้นของบริษัทที่มีอายุการดำเนินงานมาอย่างยาวนาน และบริษัทเริ่มใหญ่ มีมูลค่าหลักทรัพย์ทางตลาดสูง ซึ่งการที่ฐานของกำไรบริษัทที่ใหญ่แล้วนั้นทำให้การขยายตัวของกำไรบริษัทยากต่อการเติบโต จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นว่า P/E Ratio* ของหุ้นกลุ่มนี้จะไม่สูงมากนักเนื่องจากนักลงทุนพอคาดการณ์กำไรได้ค่อนข้างคงที่และไม่ได้คาดหวังการเติบโตของกำไรที่โดดเด่นนัก นอกจากนี้หุ้นในกลุ่มนี้มักจะมีการจ่ายปันผลในอัตราที่สูงหรือสม่ำเสมอ ซึ่งอาจจะแสดงนัยถึงการที่บริษัทไม่ได้ใช้เงินในการขยายธุรกิจมากเท่าไหร่นัก ดังนั้นการจ่ายเงินปันผลคืนแก่ผู้ถือหุ้นย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แม้ว่าหุ้นกลุ่มนี้อาจจะเหมาะกับคนที่รับความเสี่ยงได้น้อยเมื่อเทียบกับหุ้นประเภทอื่น แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังคือบริษัทที่เติบโตช้านั้นหากอยู่ในอุตสาหกรรมขาลงนั้น อาจจะส่งผลเสียต่อมูลค่าหุ้นหรือเงินปันผลในระยะยาว

ประเภทที่สองคือหุ้นแข็งแกร่ง หรือ “The Stalwarts” ดังชื่อเรียกว่าแข็งแกร่งหุ้นกลุ่มนี้มักมีกำไรที่เติบโตได้ดีเหนือค่าเฉลี่ยตลาด และงบการเงินที่แข็งแกร่งเช่น บริษัทมีสภาพคล่องทางการเงินสูงและหนี้สินแต่ทุนในระดับที่เข้มแข็งไม่เสี่ยงต่อการล้มละลายหรือขาดสภาพคล่องในยามวิกฤติ บริษัทเริ่มมีการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นเพียงแต่บริษัทยังคงอยู่ในช่วงขยายตัวดังนั้นอัตราการจ่ายเงินปันผลอาจจะไม่สูงเท่าแบบแรก

แน่นอนเมื่อมีหุ้นกลุ่มโตช้าก็ต้องมีหุ้นกลุ่มโตเร็ว หรือ “The Fast Growers” หุ้นกลุ่มนี้ส่วนมากจะยังมีขนาดบริษัทที่ไม่ใหญ่มากจัดได้ว่าอยู่ในระดับ Mid-Small capitalization** หุ้นกลุ่มนี้จะมีการเติบโตของกำไรสุทธิที่ค่อนข้างสูงกว่าตลาด โดยมีอัตราการเติบโตของกำไรเฉลี่ยอยู่ที่มากกว่า 15-20% ต่อปี ดังนั้นนักลงทุนจึงคาดหวังการเติบโตจากหุ้นประเภทนี้ ส่งผลให้ราคาหุ้น (ราคาหุ้นมักเป็นการสะท้อนมุมมองของผู้ลงทุนที่มีต่อมูลค่าหุ้นในอนาคต) มักถูกซื้อ-ขายในระดับ P/E ratio* ที่ค่อนข้างสูง หรือเปรียบได้ว่านักลงทุนยอมซื้อหุ้นในราคาแพงมากเมื่อเทียบกับกำไรต่อหุ้นในปัจจุบัน เนื่องจากคาดหวังว่ากำไรต่อหุ้นนั้นจะเติบโตเร็วพอที่จะให้กำไรคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป กลุ่มนี้ดูเผินๆ แล้วจะเป็นการลงทุนที่ทำให้เงินลงทุนมีโอกาสขยายตัวในระยะยาว (ตราบเท่าที่บริษัทสามารถทำกำไรได้ในระดับที่สูงกว่า 15-20% ต่อปี) แต่อย่างไรก็ตามหุ้นกลุ่มนี้ก็มีข้อควรระวังเนื่องจากการที่บริษัทเติบโตได้เร็วดังกล่าวในช่วงที่บริษัทยังไม่ได้เป็นเจ้าตลาดหรือมีชื่อเสียงเพียงพอ จะเป็นการดึงให้คู่แข็งเข้ามาในตลาด และบริษัทเหล่านี้มักจะมีการกู้ยืมเงินเพื่อขยายกิจการในระดับค่อนข้างสูง จึงอาจจะไม่เหมาะกับการลงทุนในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นหรือดอกเบี้ยสูง

เราเดินทางกันมาครึ่งทางแล้ว ประเภทที่สี่ ได้แก่หุ้นวัฎจักร หรือ “The Cyclicals” คือหุ้นที่ปัจจัยหลักที่มีผลต่อรายได้ของบริษัทนั้นหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจต่างๆ บริษัทไม่สามารถควบคู่ปัจจัยดังกล่าวได้ เช่นหุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น โรงน้ำตาล ธุรกิจเกี่ยวข้องกับน้ำมัน ปิโตรเคมี และถ่านหิน เป็นต้น กลุ่มนี้ไม่ควรถือลงทุนเป็นสัดส่วนหลักเนื่องจากรายได้ที่ผันผวนย่อมส่งผลให้กำไรและราคาหุ้นนั้นผันผวนตาม

ประเภทที่ห้าคือหุ้นฟื้นตัว หรือ “The turnarounds” หุ้นกลุ่มนี้จัดว่าเป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงและคาดเดาได้ยากเนื่องจากผลการดำเนินงานในอดีตของบริษัทเหล่านี้มักจะไม่ค่อยดีหรืออาจถึงขั้นมีขาดทุนสะสมมาหลายปี จุดสังเกตุของหุ้นประเภทนี้คืออัตรากำไรสุทธิเริ่มกลับมาเป็นบวก หรือเริ่มมีพัฒนาการทางธุรกิจที่ดีขึ้น สถานะทางการเงินของบริษัทเริ่มฟื้นตัว ซึ่งแน่นอนหากนักลงทุนเข้าลงทุนในช่วงที่บริษัทกำลังปรับโครงสร้างธุรกิจหรือมีการเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจ และธุรกิจสามารถฟื้นตัวกลับมามีกำไรได้จริง ย่อมส่งผลบวกอย่างมากกับราคาหุ้นที่นักลงทุนไว้ก่อนหน้า

และประเภทสุดท้ายคือหุ้นประเภทที่มีทรัพย์สินอยู่มาก หรือ “The Asset Plays” หุ้นประเภทนี้มักจะเป็นบริษัทที่มีสินทรัพย์ที่ยังไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์สูงสุดหรือสินทรัพย์ที่บริษัทมีอยู่อาจลงทุนไว้นานแล้ว ตัวอย่างเช่น บริษัทหนึ่งมีที่ดินที่ซื้อไว้เมื่อ 20-30 ปีก่อน และปัจจุบันมีรถไฟฟ้าหรือถนนหลักตัดผ่านทำให้มูลค่าที่ดินเดิมนั้นสูงขึ้น แต่บริษัทยังไม่ได้มีแผนการใช้พื้นที่ดังกล่าวที่เหมาะสมกับมูลค่าที่ดินที่สูงขึ้น

โดยสรุปแล้วหุ้นแต่ละประเภทล้วนมีลักษณะจุดเด่น / จุดด้อยที่ต่างกัน โดยหุ้นสองกลุ่มแรกอาจจะเหมาะกับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ต่ำกว่า ขณะที่หุ้นประเภทที่สามถึงห้านั้นเหมาะกับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้หน่อย และหุ้นกลุ่มสุดท้ายซึ่งแม้ดูเหมือนไม่เสี่ยงเนื่องจากมูลค่าสินทรัพย์มักถูกซ่อนไว้ แต่ก็มีความเสี่ยงด้านเวลารอคอยที่เจ้าของบริษัทหรือทีมบริหารจะนำสินทรัพย์ดังกล่าวมาปลดล๊อคมูลค่าเพิ่ม

ก่อนจบบทความผมขอนำคำคมของ คุณปีเตอร์ ลินซ์ มาฝาก “Behind every stock, there is a company” หรือเบื้องหลังของหุ้นสามัญก็คือบริษัทนั้นแหละ หรือเป็นการบอกนัยว่าการจะลงทุนในหุ้นสามัญนั้นก็ไม่ต่างกับการเลือกลงทุนในบริษัทจดทะเบียน ซึ่งผู้ลงทุนควรศึกษาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน หรือหากไม่มีเวลาในการศึกษาสามารถใช้บริการผู้เชี่ยวชาญหรือผู้แนะนำการลงทุนได้

Note:
*P/E Ratio (Price to earnings ratio) คือ อัตราผลตอบแทนต่อหุ้นเทียบระหว่างราคาหุ้นหารด้วยกำไรต่อหุ้น
**Mid-Small capitalization คือ หุ้นที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ทางตลาดในระดับเล็กถึงกลาง

โดย นายธนทัต มัตยะสุวรรณ
Investment Research and Strategy
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็กซ์สปริง จำกัด