Inside Out และนักลงทุนกับอารมณ์ในวันที่ตลาดผันผวน




Inside Out และนักลงทุนกับอารมณ์ในวันที่ตลาดผันผวน

ภาพยนตร์ Inside Out แสดงให้เห็นถึงอารมณ์ที่แตกต่างกันภายในจิตใจของมนุษย์ ได้แก่ ความสุข (Joy), ความเศร้า (Sadness), ความโกรธ (Anger), ความกลัว (Fear), และความรังเกียจ (Disgust) ซึ่งทุกอารมณ์มีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจและการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน ซึ่งสามารถเปรียบเทียบกับอารมณ์ของนักลงทุนอย่างไร วันนี้ XSpring จะพาไปดู! 

อารมณ์ของนักลงทุนมักเกิดจากความผันผวนของการคาดหวังในการลงทุน ในตอนที่ตลาดผันผวน ซึ่งมีปัจจัยทั้งภายในและภายนอกมากระทบ โดยปัจจัยภายใน ได้แก่ ความโลภ ความกลัว ความหวัง และความมั่นใจ ส่วนปัจจัยภายนอก ได้แก่ ข่าวสาร สภาวะเศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สามารถส่งผลให้เกิดการพลิกกลับของอารมณ์ได้ เช่น จากความมั่นใจไปเป็นความกลัว 

  • อารมณ์ใน Inside out เปรียบเสมือนกับอารมณ์นักลงทุนอย่างไร ? 

Joy หรือ ตัวละครอารมณ์ของความสุข อารมณ์สบาย ๆ มองโลกในแง่ดีและชอบที่จะหาความสนุกในทุกสถานการณ์ จึงเปรียบเสมือนกับอารมณ์ของนักลงทุนที่เกิดจากเมื่อมีความสุขจะก็จะมีความมั่นใจในตลาดและการลงทุนในพอร์ตของตัวเอง อาจทำให้เกิดการตัดสินใจที่ดีและมั่นคง แต่นักลงทุนที่มีความสุขมากเกินไปอาจมีความมั่นใจเกินจริงและไม่มองเห็นความเสี่ยง ดังนั้น ควรระมัดระวังและคอยบริหารความเสี่ยงอยู่เสมอ 

Sadness หรือ ตัวละครอารมณ์ของความเศร้า ชอบคอตกและเชื่องช้า อยากจะมองโลกในแง่ดี เปรียบเสมือนกับอารมณ์ของนักลงทุนที่เกิดความเศร้าจากความผิดหวังเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุน โดยเฉพาะเมื่อตลาดตกลงหรือลงทุนไม่ได้ดั่งใจ ความเศร้าทำให้นักลงทุนต้องทบทวนการตัดสินใจอีกครั้งและเรียนรู้จากความผิดพลาด ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีในโลกของการลงทุน 

Anger หรือ ตัวละครอารมณ์ของความโกรธ มีความอดทนต่ำมาก ถ้าจะต้องเจอกับความไม่สมบูรณ์แบบ ที่จะต้องพบเจอในแต่ละวันเปรียบเสมือนกับอารมณ์ของนักลงทุนที่เกิดความโกรธเมื่อการลงทุนไม่เป็นไปตามคาดหวัง อารมณ์นี้สามารถกระตุ้นให้นักลงทุนตัดสินใจโดยไม่รอบคอบหรือตอบโต้ตลาดอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจนำไปสู่การขาดทุน อารมณ์ของความโกรธจึงต้องระวังมากที่สุด ในการตัดสินใจลงทุน 

Fear หรือ ตัวละครอารมณ์ของความกลัว ชอบใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการคำนวณความเสี่ยง ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน เปรียบเสมือนกับอารมณ์ของนักลงทุน ที่เกิดความกลัวเมื่อมีความไม่แน่นอนในตลาด ความกลัวอาจทำให้นักลงทุนขายสินทรัพย์ออกไปอย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันการขาดทุน แต่บางครั้งการตัดสินใจที่มีพื้นฐานจากความกลัวอาจไม่ใช่การตัดสินใจที่ดีที่สุด 

Disgust หรือ ตัวละครอารมณ์ของความความรังเกียจ จริงใจและตรงไปตรงมา ชอบจับตาดูสิ่งต่าง ๆ เปรียบเสมือนกับอารมณ์ของนักลงทุน ที่ไม่พอใจหรือไม่เชื่อมั่นต่อสินทรัพย์หรือกลุ่มอุตสาหกรรมบางประเภทที่ได้ลงทุน ซึ่งอาจทำให้พลาดที่จะได้ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีศักยภาพในการทำกำไร นักลงทุนควรไตร่ตรองก่อนจะตัดสินด้วยอารมณ์ เพราะจะทำให้พลาดกำไรที่ควรจะได้ในอนาคต 

อย่างไรก็ตาม อารมณ์เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นเรื่องปกติในชีวิตของทุกคน ซึ่งในเรื่อง Inside out ก็ได้สอนให้เราเห็นความสำคัญของการรับรู้และจัดการอารมณ์ของตัวเองในสถานการณ์ต่างๆ เช่นเดียวกับที่นักลงทุนต้องทำเมื่อเผชิญกับความผันผวนของตลาดและความเสี่ยงในการลงทุน