XAM Weekly X-Ray / 31 มีนาคม 2025




XAM Shot

  • “จีนเตรียมอัดฉีดเงินกว่า 6.9 หมื่นล้านดอลลาร์เข้า 4 ธนาคารใหญ่ หลังส่วนทุนเริ่มไม่พอ - บริษัทผลิตชิปเริ่มชะลอการลงทุนในเอเชีย หลังความต้องการต่ำกว่าที่คาด”

Things you need to know

  • 1. “EQT ระดมเงินเข้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐานได้ 2.15 หมื่นล้านยูโร” กองทุนดังกล่าว (EQT Infrastructure VI) มีเป้าหมายที่จะลงทุนในพลังงานทดแทนและระบบดิจิทัล โดยมีขนาดกองทุนใหญ่กว่ากองทุนเดิมราว 35% โดยบริษัทมองว่ายังมีความต้องการอยู่มาก และไม่น่าได้รับผลกระทบจากนโยบายการค้า เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้บริษัทให้บริการกับประชากรในท้องถิ่น ทั้งนี้ลูกค้าเดิมกว่า 70% ของ EQT ใส่เงินเข้ามาในกองทุนดังกล่าว โดยเอเชียแปซิฟิกและสหรัฐฯ มีสัดส่วนอยู่ที่ทวีปละ 30% นอกนัน้มาจากยุโรปและแอฟริกา
  • 2. “รัฐบาลจีนประกาศอัดฉีดเงินกว่า 6.9 หมื่นล้านดอลลาร์เข้าระบบธนาคาร” การอัดฉีดเงินดังกล่าวมาในรูปแบบของการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ 4 ธนาคารหลักของจีนคือ Bank of China, Bank of Communications, Postal Savings Bank of China และ China Construction Bank ที่จะเริ่มขึ้นในอีกไม่นานหลังจากนี้ เพื่อเติมเงินกองทุนขั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Tier 1 Capital) เข้าไปหลังจากเริ่มลดต่ำลง ทั้งนี้ธนาคารพาณิชย์จีนปัจจุบันมีกำไรจากดอกเบี้ย (Net Interest Margin) ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.52%
  • 3. “บริษัทผลิตชิปเริ่มชะลอการลงทุนในเอเชีย หลังยอดขายไม่ดี” Nikkei Asia ระบุว่าบริษัทผลิตชิปซึ่งมีทั้ง TSMC และอินเทล เริ่มชะลอการลงทุนในญี่ปุ่นและมาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชิปรุ่นเก่า (mature mode) หลังจากความต้องการในตลาดไม่มากพอ และชี้ว่าการฟื้นตัวในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ชิปพวกนี้ เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค รถยนต์ และโรงงาน อาจต้องใช้เวลามากกว่าที่คิด รวมถึงการตีตลาดจากชิปกลุ่มนี้จากจีนที่ผลิตออกมาสู่ตลาดเยอะมาก 
  • 4. “ตัวเลขภาคการผลิตของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 11 เดือน” โดยตัวเลขภาคการผลิตโรงงานอุตสาหกรรม (Industrial Production) ของญี่ปุ่นอยู่ที่ 2.5% MoM/0.3% YoY สูงกว่าคาดในระดับเดือนแต่ต่ำกว่าคาดในระดับปี ด้านตัวเลขยอดค้าปลีก (Retail Sales) อยู่ที่ 0.5% MoM/1.4% YoY บ่งชี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และสอดคล้องกับคาดการณ์ของ BOJ ก่อนหน้านี้
  • 5. “Goldman Sachs ประเมิน FED, ECB ลดดอกเบี้ยปีนี้เพิ่ม หลังสงครามการค้าโหมหนัก” การปรับมุมมองดังกล่าวเกิดจากสภาวะสงครามการค้า ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ FED จำเป็นต้องลดดอกเบี้ย โดยประเมินว่าจะลดถึง 3 ครั้งด้วยกันในเดือนกรกฎาคม กันยายน และพฤศจิกายน ส่วน ECB หรือธนาคารกลางยุโรปคาดว่าจะลดดอกเบี้ยในเดือนเมษายน มิถุนายน และกรกฎาคม ด้านเงินเฟ้อสหรัฐฯ บนตัวเลข Core PCE นั้น GS ประเมินว่าสิ้นปี 2025 จะอยู่ที่ 3.5% YoY และ GDP สหรัฐฯ จะชะลอลงเหลือ 1%

Daily Trend

  • “ความเสี่ยง Stagflation เพิ่มขึ้น” ตลาดกำลังประเมินว่าอัตราเงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้นและการเติบโตชะลอตัวลงจากสงครามการค้า คือเรื่องที่มีความสำคัญแม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงสามารถไปได้ดีในระยะเวลาอันใกล้นี้ เนื่องจากเป็นการบ่งชี้ความเสี่ยง Stagflation หรือเงินเฟ้อสูงการเติบโตต่ำได้เป็นอย่างดี รวมถึงความกังวลว่าเงินเฟ้อในประเทศอื่นๆ นอกสหรัฐฯ จะลดลง ทำให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ต้องรีบลดดอกเบี้ยนโยบาย เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ตราสารหนี้ประเทศกำลังพัฒนาได้รับความสนใจจากตลาดอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ TS Lombard มองว่าตราสารหนี้ประเทศกำลังพัฒนามีโอกาสที่จะได้รับผลบวกจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้าและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในครั้งนี้
  • “ปัจจัยที่ต้องติดตาม” NBS Manufacturing PMI ของจีน ตลาดคาด 50.5 หน่วย (เลื่อนการประกาศจากวันเสาร์), NBS Non-Manufacturing PMI ของจีน ตลาดคาด 50.5 หน่วย, เงินเฟ้อเยอรมนี ตลาดคาด 0.4% MoM/2.3% YoY


XSpring AM